น้ำมันดิบ คือ ปิโตรเลียมที่มีสถานะเป็นของเหลวในธรรมชาติ ส่วนมากมีสีดำหรือน้ำตาล มีลักษณะเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ปะปนกันอยู่ และในบางครั้งอาจมีสารอื่น ๆ ประกอบอยู่ด้วย เช่น กำมะถัน (S), ไนโตรเจน (N), ออกซิเจน (O) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้น้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาจะยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ต้องมีการนำมาแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนต่าง ๆ ออกเป็นกลุ่ม ๆ ก่อน จึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามชนิดของสารได้ โดยการวิธีการแยกสารที่ปนอยู่ในน้ำมันดิบออกจากกันนี้ เรียกว่า การกลั่นน้ำมันดิบ
1. การกลั่นน้ำมันดิบ
การกลั่นน้ำมันดิบ เป็นวิธีการกลั่นลำดับส่วนที่อาศัยหลักการว่า สารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ที่ผสมปนอยู่ในน้ำมันดิบ จะมีจุดเดือดที่แตกต่างกันไปตามจำนวนคาร์บอนภายในโมเลกุล (สารที่มีจำนวนคาร์บอนมากจะยิ่งมีจุดเดือดสูง) ดังนั้นเมื่อส่งน้ำมันดิบเข้าไปสู่หอกลั่นที่มีอุณหภูมิสูง 400 องศาเซลเซียส น้ำมันดิบจะเดือดแล้วระเหยกลายเป็นไอลอยขึ้นไปส่วนบนของหอกลั่นซึ่งมี อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเดือดของสาร สารนั้นก็จะควบแน่นกลับมาเป็นของเหลวเหมือนเดิมได้ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถแยกสารต่าง ๆ ที่ผสมกันอยู่ในน้ำมันดิบออกจากกันได้ โดยสารที่มีจุดเดือดสูง (จำนวนคาร์บอนมาก) จะมีการควบแน่นออกมาก่อน ส่วนสารที่มีจุดเดือดต่ำ (จำนวนคาร์บอนน้อย) จะมีการควบแน่นออกมาทีหลังตามลำดับ
2. ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นน้ำมันดิบ
สารที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน มีตั้งแต่สารที่ประกอบด้วยคาร์บอนเพียง 1 อะตอม จนถึงสารที่มีคาร์บอนมากกว่า 50 อะตอม ซึ่งจำนวนคาร์บอนที่แตกต่างกันก็จะทำให้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนมีสมบัติที่ แตกต่างกัน จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
- แก๊สปิโตรเลียม (คาร์บอน 1-4 อะตอม) ใช้สำหรับทำสารเคมี วัสดุสังเคราะห์ และแก๊สหุงต้ม
- แนฟทา (คาร์บอน 5-6 อะตอม) ใช้ในการทำสารเคมี
- แก๊สโซลีน หรือน้ำมันเบนซิน (คาร์บอน 6-10 อะตอม) ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์
- น้ำมันก๊าด (คาร์บอน 10-14 อะตอม) ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และตะเกียง
- น้ำมันดีเซล (คาร์บอน 14-19 อะตอม) ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล
- น้ำมันหล่อลื่น, ไข (คาร์บอนมากกว่า 35 อะตอม) ใช้ทำน้ำมันเครื่อง, เทียนไข, แว็ก
- น้ำมันเชื้อเพลิง (คาร์บอนมากกว่า 35 อะตอม) ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องจักรและของเรือ
- บิทูเมน (คาร์บอนมากกว่า 35 อะตอม) ใช้ทำวัสดุกันรั่วซึมและยางมะตอย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น