วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ข่าวการเมือง

หมอตุลย์ นำทีม ให้กำลังใจ ผบ.ตร.



น.พ.ตุลย์ นำเสื้อหลากสีให้กำลังใจ ผบ.ตร. หลังถูกโยกย้าย ชี้ ร.ต.อ.เฉลิม ใช้อำนาจเกินเหตุ แนะ ผบ.ตร. ฟ้องศาลปกครอง

น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นำสมาชิกจำนวน 15 คนเดินทางมาเพื่ออ่านแถลงการณ์คัดค้านการปลด พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากตำแหน่ง

โดยระบุว่า การกระทำของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นั้นเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงข้าราชการตำรวจประจำ โดยไม่มีเหตุผลอันควร เพราะตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติการโอนย้ายนี้จะต้องเกิดขึ้นจากความสมัครใจ ซึ่งเชื่อว่า พล.ต.อ.วิเชียร ไม่ได้มีความสมัครใจที่จะย้ายออกจากตำแหน่ง

ส่วน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ที่คาดว่าจะได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนั้น ผู้ที่รับประโยชน์ทางอ้อม คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะถือเป็นเครือญาติ จึงอยากให้ พล.ต.อ.วิเชียร ฟ้องต่อศาลปกครองว่าถูกนายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.เฉลิม ดำเนินการโยกย้ายโดยไม่ได้รับความสมัครใจ

นอกจากนี้ น.พ.ตุลย์ ยังได้ฝากคำถามไปยัง ร.ต.อ.เฉลิม และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ คนละ 5 ข้อ อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม เคยเล่นการพนันที่บ่อนพม่าและชายแดนไทย-กัมพูชาหรือไม่ รวมทั้งได้ถามคำถาม พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ว่าเมื่อได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. แล้ว จะเร่งถอดยศและตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาดำเนินคดีหรือไม่ เป็นต้น

ข่าวพลเมือง

เด็กหญิง 4 ขวบ เจอเงิน 4 หมื่น ส่งคืนเจ้าของ


เด็กหญิง 4 ขวบ พลเมืองดี เก็บกระเป๋าตังค์ได้ในห้องน้ำห้างดังย่านเมืองนนท์ พบเงินสดเกือบครึ่งแสนลอตเตอรี่อีกหลายคู่ น้าสาวพาขึ้นโรงพักแจ้งตำรวจส่งคืนเจ้าของทันควัน สาวใหญ่วัย 52 กระเป๋ารถเมล์เจ้าของเงิน เผยเพิ่งกู้แบงก์มาสดๆ ร้อนๆ ตอนแรกทำใจแล้วว่าชวดแน่ สุดดีใจได้คืนครบทุกบาททุกสตางค์

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 6 ก.ค. ขณะที่ร.ต.ท. ณฐกร นบนอบ ร้อยเวรสภ.เมืองนนทบุรี สาขาย่อยรัตนาธิเบศร์ กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่บนโรงพัก ได้มีน.ส.กาญจนา ทองสุข อายุ 30 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง พักอยู่ในหมู่บ้านเดอะเทอเรสต์ ซ.ติวานนท์ 3 ต.ตลาดขวัญ อุ้มด.ญ.ธนภรณ์ หรือน้องเบนซ์ ปานวัด อายุ 4 ขวบ นักเรียนชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนราชินีบน ย่านสามเสน กทม. ซึ่งเป็นหลานสาว เข้าแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมมอบกระเป๋าสตางค์สีเหลือง ให้เป็นหลักฐานโดยระบุว่า เก็บได้จากห้องน้ำห้างบิ๊กซี สาขาติวานนท์ ให้ช่วยติดตามหาเจ้าของด้วย

ตรวจสอบภายในมีเงินสดเป็นธนบัตรชนิด 1,000, 500 และ 100 บาท รวม 40,500 บาท รวมทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลอีก 8 คู่ เป็นเลขท้าย 498 จำนวน 5 คู่ 360 จำนวน 3 คู่ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของนางละเมียด บุญเพ็ชร อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 23/1 หมู่ 4 ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

น.ส.กาญจนา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนและหลานสาวมาเดินเที่ยวห้างบิ๊กซี สาขาติวานนท์ ระหว่างนั้นหลานสาวเกิดปวดท้องจึงบอกให้ตนพาเข้าห้องน้ำของห้างที่ชั้น 2 ฝั่งด้านหลังลิฟต์ จึงเปิดประตูแล้วให้หลานสาวเข้าไปทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ สักครู่ใหญ่หลังเสร็จกิจหลานสาวถือกระเป๋าใบหนึ่งออกมาจากห้องน้ำโดยบอกเจอวางอยู่บนชักโครกภายในห้องน้ำ เมื่อเปิดดูพบว่ามีเงินสดอยู่ภายในจำนวนมากจึงอุ้มหลานสาวมาแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหาตัวเจ้าของเงิน เพราะคิดว่าอาจจะเดือดร้อนจากการที่ทำเงินหายในครั้งนี้ก็เป็นได้

หลังสอบปากคำเสร็จแล้ว ร.ต.ท.ณฐกรพยายามติดต่อไปยังที่อยู่ตามที่พบในบัตรประชาชน รวมทั้งขอหมายเลขโทรศัพท์เบอร์ติดต่อจากทางองค์การโทรศัพท์ฯ แต่ไม่พบว่ามีการแจ้งหมายเลขในทะเบียนบ้านดังกล่าวจึงยังไม่สามารถติดต่อได้ ต่อมานางละเมียด เดินทางเข้าพบร.ต.ท.ณฐกร เพื่อติดต่อขอรับเงินจำนวนดังกล่าวคืน เจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อน.ส.กาญจนากลับมาที่โรงพัก

นางละเมียด กล่าวว่า เป็นกระเป๋ารถขสมก.สาย 114 วิ่งระหว่างนนทบุรี-ลำลูกกา แต่วันนี้เป็นเวรหยุดไม่ได้ไปทำงาน ช่วงเย็นได้ไปเดินซื้อของที่ห้างแต่เกิดปวดท้องจึงเข้าห้องน้ำพร้อมเพื่อนบ้านที่มาด้วย ระหว่างอยู่ในห้องน้ำหยิบกระเป๋าสตางค์ออกมาจากกางเกงวางไว้ที่หลังถังชักโครก พอทำธุระเสร็จก็เดินออกมาจากห้องน้ำทันที โดยไม่ได้หยิบเอากระเป๋าสตางค์ออกมาด้วย จนกระทั่งตนมาคลำหาแต่ไม่พบ ด้วยความตกใจจึงรีบวิ่งมาที่ห้องน้ำแต่ไม่เจอกระเป๋าแล้ว เมื่อตนไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ก็ได้รับคำตอบว่าคงจะไม่ได้คืน เพราะมีคนเข้าห้องน้ำเยอะมาก

"ตอนนั้นหมดหวังที่จะได้เงินคืนแล้ว จึงได้ไปแจ้งความไว้ที่โรงพัก สภ.เมืองนนทบุรี สาขาท่าน้ำ เพื่อที่จะนำหลักฐานไปขอทำบัตรธนาคารใหม่ ส่วนเงินดังกล่าวกู้มาจากธนาคาร เพื่อที่จะนำไปใช้หนี้ที่หยิบยืมมาปลูกบ้าน และยังนั่งคิดอยู่ว่าจะหาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ ถึงกับกินข้าวไม่ลง พอมีเพื่อนที่ทำงานอยู่รถโทร.มาบอกว่ามีคนเก็บเงินได้ส่งคืนเจ้าหน้าที่ตำรวจตนจึงได้รีบเดินทางมาขอรับเงินคืนด้วยความดีใจ เพราะไม่คิดว่าจะได้เงินคืนแล้ว" นางละเมียด กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังได้รับเงินคืน นางละเมียดพยายามให้เงินเป็นสินน้ำใจแก่น้องเบนซ์ แต่น.ส.กาญจนาซึ่งเป็นน้าไม่ขอรับ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน

คุณธรรมจริยธรรม

ความหมายและหลักการของคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม

ความหมายและหลักการของคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม

จรรยาบรรณ และธรรมาภิบาล

โดย ดร. จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ



ปฐมเหตุแห่งการนำเสนอบทความนี้มาจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ) ที่ กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดให้มีการจัดระบบจูงใจ ให้คนทำดี ได้ดี มีรางวัลตอบแทน เป็นการพิจารณาให้ความดีความชอบของข้าราชการ ประจำปี ที่ทำงานด้านส่งเสริมคุณธรรมศีลธรรมของสถานศึกษา จึงต้องมีข้อตกลงเบื้องต้นว่างานคุณธรรม ศีลธรรมคืออะไร และจะเกี่ยวข้องกับบุคลากร 3 ฝ่าย ได้แก่ กลุ่มผู้บริหารโครงการ กลุ่มจัดการเรียนการสอน และกลุ่มจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร

นอกจากนี้ คำว่า คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ธรรมาภิบาล และสมรรถนะ มักมีผู้นำไปใช้ในความหมายที่แตกต่าง สับสน และไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริง ดังนั้นการทำความเข้าใจตั้งแต่ รากศัพท์ ความหมายและประโยชน์ในการนำไปใช้ จะช่วยให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้ดี

เป้าหมายปลายทาง

คุณธรรม (Moral) ศีลธรรม (Moral) จริยธรรม (Ethics)และ จรรยาบรรณ (Code of Conduct)มีเป้าหมายใช้เพื่อการควบคุมตนเอง และส่งผลต่อ พฤติกรรมของบุคคลนั้น ส่วนธรรมาภิบาล (Good Governance) และ ขีดสมรรถนะ (Competency) ใช้เพื่อเป็นกลไกควบคุม โครงสร้าง ระบบ และกระบวนการส่งผลต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานหรือองค์กร

คุณธรรม (Moral / Virtue)

“คุณธรรม” คือ คุณ + ธรรมะ คุณงามความดีที่เป็นธรรมชาติ ก่อให้เกิด ประโยชน์ต่อตนเองและ

สังคม ซึ่งรวมสรุปว่าคือ สภาพคุณงาม ความดี

คุณธรรม (Virtue) แนวความคิดที่ดีเป็นตัวบังคับให้ประพฤติดี

1. สภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจ

2. คุณธรรม คือจริยธรรมที่แยกเป็นรายละเอียดแต่ละประเภท หากประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นสภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจของผู้นั้น



จริยธรรม (Ethics)



“จริยธรรม” = จริย + ธรรมะ คือ ความประพฤติที่เป็นธรรมชาติ เกิดจากคุณธรรมในตัวเอง

ก่อให้เกิดความ สงบเรียบร้อยในสังคม รวมสรุปว่าคือ ข้อควรประพฤติปฏิบัติ

จริยธรรม(Ethics) ความเป็นผู้มีจิตใจสะอาด บริสุทธิ์ เสียสละหรือประพฤติดีงาม

1. ประมวล กฎหมาย ที่กลุ่มชนหรือสังคมหนึ่งๆ ยอมรับเป็นแนวควบคุมความประพฤติ เพื่อแยกแยะให้เห็นว่าอะไรควรหรือไปกันได้กับการบรรลุวัตถุประสงค์ของกลุ่ม

2. ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วย ความประพฤติ และการครองชีวิต ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรควร อะไรไม่ควร

3. กฎเกณฑ์ความประพฤติของมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นจากธรรมชาติของมนุษย์เอง ได้แก่ ความเป็นผู้มีปัญญา และเหตุผลหรือปรีชาญาณทำให้มนุษย์มีมโนธรรมและ รู้จักไตร่ตรองแยกแยะความดี - ความชั่ว, ถูก - ผิด, ควร - ไม่ควร เป็นการควบคุมตัวเอง และเป็นการควบคุม กันเองในกลุ่ม หรือเป็นศีลธรรมเฉพาะกลุ่ม

ศีลธรรม (Moral)



1. ความประพฤติที่ดีที่ชอบ หรือธรรมในระดับศีล หรือกรอบปฎิบัติที่ดี เกี่ยวกับความรู้สึกรับผิดชอบ บริสุทธิ์ เกี่ยวกับจิตใจ

2. หลักความประพฤติที่ดีสำหรับบุคคลพึงปฏิบัติ



“ธรรมาภิบาล” (Good Governance)

ธรรมาภิบาล คือ ธรรมะ + อภิบาล หมายถึง ปกครองด้วยคุณความดี ซื่อตรงต่อกัน มั่นคงในสัญญาที่มีต่อกัน

สัญญา (กฎ กติกา มารยาท) ที่ ร่วมกันทำ เป็นธรรม โปร่งใส รับผิดชอบในสิ่งที่ทำ

การจัดการปกครอง การบริหารปกครอง การบริหารกิจการบ้านเมือง การควบคุมดูแลกิจการ การกำกับดูแลที่ดี อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ (Process) และระบบ (System) ซึ่งองค์การหรือสังคมได้มีการปฏิบัติหรือดำเนินการ (Operate)
ธรรมาภิบาล มักครอบคลุมประเด็น ดังนี้

- การมีส่วนร่วมของประชาชน(Participation)

- นิติธรรม (Rule of law)

- ความโปร่งใส (Transparency)

- การตอบสนอง (Responsiveness)

- การแสวงหาฉันทามติ (Consensus oriented)

- ความถูกต้อง ความเสมอภาค ยุติธรรม เที่ยงธรรม (Equity)

- ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ (Effectiveness & Efficiency)

- ภาระรับผิดชอบ (Accountability

ทศพิธราชธรรม (Virtues of the King)

จริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชน

ทศพิธราชธรรมทั้ง 10 ข้อ มีดังนี้

- ทาน คือ การให้ การเสียสละ การให้น้ำใจ

- ศีล คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา ใจ ให้ปราศจากโทษ

- บริจาค คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม

- ความซื่อตรง คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต

- ความอ่อนโยน คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส

- ความเพียร คือ ความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน

- ความไม่โกรธ คือ ไม่มุ่งร้ายผู้อื่น แม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล

- ความไม่เบียดเบียน คือ การไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น

- ความอดทน คือ การรักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย การอดทนต่อสิ่งทั้งปวง

- ความยุติธรรม คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก





จรรยาบรรณ (Codes of Conduct) (Professional Ethics)

จรรยาบรรณ หมายถึง ประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติหรือประมวลมารยาทของผู้ประกอบอาชีพนั้น ๆต้องเป็นเอกลักษณ์ทางวิชาชีพ ใช้ความรู้ มีองค์กรหรือสมาคมควบคุม

1. ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

2. หลักความประพฤติที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้มีคุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลในแต่ละกลุ่มวิชาชีพ

จรรยาบรรณวิชาชีพ (Code of Ethics )

n จรรยาบรรณเกิดขึ้นเพื่อ *มุ่งให้คนในวิชาชีพมีประสิทธิภาพ* ให้เป็นคนดีในการบริการวิชาชีพ
*ให้คนในวิชาชีพมีเกียรติศักดิ์ศรีที่มีกฎเกณฑ์มาตรฐานจรรยาบรรณ

n จรรยาบรรณ มีความสำคัญและจำเป็นต่อทุกอาชีพ ทุกสถาบัน และหน่วยงาน เพราะเป็นที่ยึดเหนี่ยวควบคุมการประพฤติ ปฏิบัติด้วยความดีงาม

จรรยาบรรณวิชาชีพครู(Code of Ethics of Teaching Profession)

ความหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพครู คือ กฎแห่งความประพฤติสำหรับสมาชิกวิชาชีพครู ซึ่งองค์กรวิชาชีพครูเป็นผู้กำหนด และสมาชิกในวิชาชีพทุกคนต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด หากมีการละเมิดจะมีการลงโทษ

n ความสำคัญจรรยาบรรณวิชาชีพครูจรรยาบรรณวิชาชีพครู มีความสำคัญต่อวิชาชีพครูเช่นเดียวกับที่จรรยาบรรณวิชาชีพ มีความสำคัญต่อวิชาชีพอื่น ๆ ซึ่งสรุปได้ ๓ ประการ คือ

n ๑. ปกป้องการปฏิบัติงานของสมาชิกในวิชาชีพ

n ๒. รักษามาตรฐานวิชาชีพ

n ๓. พัฒนาวิชาชีพ

แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539

n ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า

n ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์ อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ

n ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ

n ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์

n ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ใช้ศิษย์กระทำการใดๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ

n ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิชาการ เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่เสมอ

n ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู

n ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์

n ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย



จรรยาบรรณนักเรียนนักศึกษา 10ประการ

*พึงหาโอกาสเรียนรู้ ให้เข้าใจใช้เหตุผลโดยเร็วที่สุดตามระดับวัย

*พึงรับทุกอย่างด้วยเหตุผล พึงรับพิจารณาความคิดอย่างมีเหตุผลถึงแม้จะยังไม่เห็นด้วย เคารพความคิดผู้อื่นโดยยึดถือการประนีประนอม และหาทางสายกลาง

* การเรียนไม่ใช่เป็นการกอบโกย เอาเปรียบผู้อื่น

* ให้ถือว่าสังคมโรงเรียน/สถาบันการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริง

*สร้างสังคมในโรงเรียน/สถาบันการศึกษา ในอุดมการณ์ปรับปรุงให้ทันสมัยทันเหตุการณ์เสมอ

*สุจริตในการทำการบ้านและในการสอบ

*ถือว่าเกียรติอยู่เหนือผลประโยชน์ใดๆ

* ฝึกน้ำใจนักกีฬาในการแข่งขันทุกประเภท

*ให้เกียรติคอาจารย์รูและเพื่อนเสมอ

* ถือว่าสิทธิจะต้องแลกเปลี่ยนกับหน้าที่และความรับผิดชอบเสมอ



ขีดสมรรถนะ (Competency)

ขีดสมรรถนะ คือ ความรู้และทักษะที่จำเป็นขั้นพื้นฐานของการปฎิบัติงานหนึ่งๆ

ขีดสมรรถนะ ที่มีความจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่

n เข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม

n คิด/วิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ได้อย่างเหมาะสม (วางแผนผังเชิงยุทธศาสตร์และมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน/วัดผลงานได้)

n สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างบรรลุผล และบริหารการเปลี่ยนแปลงได้

n ป้องกัน/ควบคุมความเสี่ยง

n มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการทำงาน

n มีจริยธรรมและความซื่อสัตย์

สมรรถนะงานสายงานวิชาชีพครูของไทย

n มาตรฐานวิชาชีพครูตามพ.ร.บ.สภาครู พ.ศ.2547 มี 3ด้าน

n 1. มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ

n 2. มาตรฐานการปฏิบัติงาน

n 3. มาตรฐานการปฏิบัติตน

คุณธรรมจริยธรรม

คุณธรรมและจริยธรรม

ปัจจุบันมักจะได้ยินคำกล่าวกันเสมอๆ ถึงเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ดังนั้น จึงขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมให้กับสมาชิกทั้งหลายได้รับทราบเพื่อพิจารณา และหากนำไปประพฤติปฏิบัติตามที่น่าจะเกิดประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย

คำว่า คุณธรรม ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึง สภาพของคุณงามความดี ส่วนคำว่า จริยธรรม ตามความหมายแยกออกเป็น 2 คำคือ จริย หมายถึง การประพฤติปฏิบัติ และ ธรรม หมายถึง คุณความดี ความจริง ความถูกต้อง,กฎ,กฎเกณฑ์,กฎหมาย หลักคำสอนในศาสนาหากจะสรุปรวมทั้งคุณธรรม และจริยธรรม ตามความเข้าใจของผู้เรียบเรียงคงหมายถึง การประพฤติปฏิบัติตนให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ทั้งกาย วาจา และใจ ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงคำว่าคุณธรรมก็มักจะกล่าวถึงคำว่าจริยธรรมรวมกันไปด้วย

ในเรื่องของคุณธรรม และจริยธรรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ หลักราชการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักคุณธรรม และจริยธรรมในวิชาชีพข้าราชการที่สำคัญยิ่งสำหรับให้ข้าราชการพึงยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติราชการ 10 ประการ มีใจความสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. ความสามารถ หมายถึง ความชำนาญในการปฏิบัติงานในด้านต่างๆให้เป็นผลสำเร็จได้ดียิ่งกว่าผู้มีโอกาสเท่าๆกัน

2. ความเพียร หมายถึง ความกล้าหาญไม่ย่อท้อต่อความลำบาก และบากบั่นเพื่อจะข้ามความขัดข้องให้จงได้โดยใช้ความวิริยภาพมิได้ลดหย่อน

3. ความมีไหวพริบ หมายถึง รู้จักสังเกตเห็นโดยไม่ต้องมีใครเตือนว่า เมื่อมีเหตุเช่นนั้นจะต้องปฏิบัติการอย่างนั้น เพื่อให้บังเกิดผลดีที่สุดแก่กิจการทั่วไปและรีบทำการอันเห็นควรนั้นโดยฉับพลัน

4. ความรู้เท่าถึงการณ์ หมายถึง รู้จักปฏิบัติการอย่างไรจึงจะเหมาะสมแก่เวลา และอย่างไรที่ได้รับเหตุผลสมถึงจะเป็นประโยชน์ที่สุด

5. ความซื่อตรงต่อหน้าที่ หมายถึง ตั้งใจกระทำกิจการซึ่งได้รับมอบให้เป็นหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

6. ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป หมายถึง ให้ประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนที่เขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้

7. ความรู้จักนิสัยคน ข้อนี้เป็นข้อสำคัญสำหรับผู้มีหน้าที่ติดต่อกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย

8. ความรู้จักผ่อนผัน หมายความว่า ต้องเป็นผู้ที่รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวว่าเมื่อใดควรตัดขาดและเมื่อใดควรโอนอ่อนหรือผ่อนผันกันได้ มิใช่แต่จะยึดถือหลักเกณฑ์หรือระเบียบอย่างเดียว ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสีย ควรจะยืดหยุ่นได้

9. ความมีหลักฐาน ข้อนี้ประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ มีบ้านอยู่เป็นที่เป็นทางมีครอบครัวอันมั่นคงและตั้งตนไว้ในที่ชอบ

10. ความจงรักภักดี หมายความว่า ยอมเสียสละเพื่อประโยชน์แห่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานคุณธรรม 4 ประการ แก่ข้าราชการและประชาชนในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีข้อความดังนี้

ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง รู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อส่วนใหญ่ของบ้านเมืองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม

ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดีนั้น

ประการที่สาม คือ ความอดทน อดกลั้น และอดออม ไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริตไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด

ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

คุณธรรม 4 ประการ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้วจะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์

นอกจากนี้จะขอนำคุณธรรมของคนที่เป็นผู้นำ 8 ประการ มากล่าวไว้ เพื่อให้คนที่เป็นผู้นำและคนที่ต้องการจะเป็นผู้นำ ได้นำไปศึกษาและนำไปประพฤติปฏิบัติตามสมควรแก่ตนต่อไป

ประการที่ 1 ความอดทน หมายถึง การห้ามจิตใจ เมื่อได้พบกับเหตุการณ์อันจะก่อให้เกิดเรื่องหรือแสดงกิริยาไม่ดีออกมา ต้องมีความอดทน ไม่หุนหันพันแล่น เช่น อดทนต่อความยากลำบากในขณะที่ทำการงาน ไม่เห็นแก่ความหนาว ความร้อน เช้าสายบ่ายค่ำ อดทนต่อความเจ็บใจ ในเมื่อคนอื่นทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจให้แก่ตน ไม่ด่วนโมโหโกรธา

ประการที่ 2 ความเป็นนักสู้ หมายถึง เป็นผู้เข้มแข็ง กล้าหาญ หนักเอาเบาสู้ มุ่งความสำเร็จกิจการงานเป็นที่ตั้ง ไม่หลงคำยอ ไม่ท้อคำติ มุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาต่างๆ ปฏิบัติงานทุกอย่างให้บรรลุเป้าหมาย

ประการที่ 3 ความเป็นผู้ตื่น หมายถึง เป็นคนตื่นตัว ว่องไวต่อปัญหาตลอดเวลา มีความคิดก้าวหน้า ริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิดยืดหยุ่น รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถที่จะนำความคิดออกมาใช้ให้ทันต่อสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

ประการที่ 4 ความขยันหมั่นเพียร หมายถึง มีความวิริยะอุตสาหะ มีความจริงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นทาสของความเกียจคร้าน มีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา

ประการที่ 5 เมตตากรุณา หมายถึง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล โอบอ้อมอารีในลักษณะสงเคราะห์ อนุเคราะห์ หรือบูชาคุณความดี แล้วแต่เวลา สถานที่และบุคคล มีความรักและความหวังดีเป็นที่ตั้ง

ประการที่ 6 ความยุติธรรม หมายถึง มีความเที่ยงธรรม เสมอภาคในคนทุกประเภท ไม่แบ่งแยกพวกเขาพวกเรา ไม่มีอคติ คือ ความลำเอียง ซึ่งความลำเอียงนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ 4 อย่างคือ ลำเอียงเพราะความรัก ลำเอียงเพราะความโกรธ ลำเอียงเพราะความกลัว และลำเอียงเพราะความหลง การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งก็พิจารณาจากความรู้ ความสามารถและคุณธรรมความดี ผู้นำที่ปฏิบัติได้ดังนี้ ย่อมเป็นที่รักของหมู่ชน ได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมความดี มาเป็นบริวารอยู่เสมอ

ประการที่ 7 การหมั่นตรวจตรากิจการงาน หมายถึง การสอดส่องดูแลการงานอยู่เสมอ เมื่อพบข้อบกพร่องก็รีบแก้ไข อย่าปล่อยไว้จะลำบากในการแก้ไข และตรวจตราดูลำดับความสำคัญก็ควรทำงานนั้นก่อน งานไหนควรทำเอง งานไหนควรแบ่งมอบหมายให้คนอื่นรับผิดชอบ รวมทั้งต้องรู้จักแบ่งงานให้ถูกกับคนด้วย คนที่มีความรู้ ถนัดสามารถในเรื่องไหน ก็มอบหมายเรื่องนั้นให้ทำ

ประการที่ 8 ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง มีความซื่อตรง มั่นคงอยู่ในศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ดังนั้น คนที่เป็นผู้นำ จึงมีความสำคัญ เพราะเรียกได้ว่าเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นด้วย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำ ถ้าประพฤติไม่เป็นธรรม คนทั้งหมดก็ทำตามอย่าง ประเทศชาติเดือดร้อน แต่ถ้าประพฤติเป็นธรรม คนทั้งหมดก็ประพฤติตามอย่างบ้าง ประเทศชาติก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เปรียบเสมือนกับฝูงโคที่กำลังข้ามฟาก ถ้าโคจ่าฝูงนำไปคดโคทั้งหมดก็เดินคดเคี้ยวตาม หากโคจ่าฝูงนำไปตรง โคทั้งหมดก็ไปตรง ฉะนั้น

จากคู่มือการจัดมาตรฐานทางคุณธรรม

และจริยธรรม ของศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม

สำนักงาน ก.พ.และจากเว็ปไซด์

เรียบเรียงโดย พ.ท.อุดม สนสายันต์

หัวหน้าสมาชิก กฌป.สก.ทบ.