วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

4 ขั้นตอนลดความเครียด รับมือกับภาวะน้ำท่วม

4 ขั้นตอนลดความเครียด รับมือกับภาวะน้ำท่วม


เผยเคล็ดง่ายสี่ขั้นตอนลดความเครียดรับมือกับภาวะน้ำท่วม (กรมควบคุมโรค)

นางจิตติมา ศรศาสตร์ปรีชา นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ กลุ่มพัฒนาวิชาการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทั้งที่ท่วมมานานหลายเดือนและน้ำลดแล้ว พบว่ามีผู้ประสบภัยที่มีภาวะความเครียดเพิ่มมากขึ้นจำนวนมาก เพราะผู้ประสบภัยน้ำท่วมต้องเผชิญปัญหาหลายด้านพร้อม ๆ กัน เช่น ความไม่สะดวกในการดำรงชีวิต ความเสียหายของบ้าน รถยนต์ และทรัพย์สินเงินทอง พื้นที่ทำการเกษตร มีภาระหนี้สิน หรือบางคนเกิดการเจ็บป่วย สูญเสียญาติพี่น้อง ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง วิตกกังวล และอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ สำหรับอาการที่พบได้ในผู้ที่มีอาการเครียดคือ ปวดศีรษะ กระวนกระวาย ไม่ค่อยมีสมาธิ หลง ๆ ลืม ๆ บางรายอาจมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย

นางจิตติมา กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำท่วมเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นประชาชนผู้ประสบภัยควรได้มีแนวทางฟื้นฟูสุขภาพจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม โดยมีคำแนะนำดังนี้

1) ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำความเข้าใจและยอมรับ ว่าภัยพิบัติไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราไม่ใช่เป็นผู้เคราะห์ร้ายอยู่คนเดียว ยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกจำนวนมาก อาจจะต้องใช้เวลาบ้างในการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น "ท้อแท้ได้ แต่อย่านาน และต้องลุกขึ้นเดินต่อ"

2) จัดลำดับความสำคัญของปัญหา พยายามนั่งพักให้จิตใจสงบนิ่ง แล้วรวบรวมสติมองปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เช่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้า การอยู่ การกิน การนอน เรื่องการขับถ่าย การป้องกันโรคและสัตว์มีพิษ เป็นต้น

3) พยายามใช้ชีวิตเรียบง่าย ผู้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมต้องปรับวิธีคิด และปล่อยวางเรื่องทรัพย์สินสิ่งของนอกกาย อนาคตยังมีโอกาสหาใหม่ได้ พยายามใช้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อลดความรู้สึกเครียดลงบ้าง บางคนห่วงทรัพย์สินจนไม่ยอมอพยพ ควรมีการชั่งน้ำหนักข้อดีและเสีย "ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ชีวิตเรามีค่าสำหรับคนที่คุณรักและคนที่รักคุณ"

4) เอาใจใส่ ดูแลกันและกัน คนที่แข็งแรงกว่าต้องช่วยคนที่อ่อนแอ ต้องคอยให้กำลังใจกับคนที่รู้สึกหมดแรง ท้อแท้ ได้ระบายความรู้สึกแล้วก็ให้กำลังใจกัน

สำหรับบางคนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราจะต้องผ่านเหตุการณ์ภัยธรรมชาตินี้ไปให้ได้ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งหลัก ตั้งสติให้ได้ แล้วลุกขึ้นเดินต่อ ร่วมมือร่วมใจกัน เป็นกำลังใจให้กัน เพื่อฟันฝ่าวิกฤตไปให้ได้ ดังนั้นขอให้ผู้ประสบภัยทุกคนมีความหวัง ให้เวลาเยียวยาจิตใจ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องดีขึ้นแน่นอน ในส่วนของการเยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนั้นต้องทำควบคู่กันไปทั้งในส่วนของภาครัฐ สังคมรอบข้าง และที่สำคัญคือตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบเอง

นอกจากเยียวยาจิตใจแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การดูแลสุขภาพร่างกายช่วงน้ำท่วมให้ปลอดภัยจากโรคและภัยสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัด อุจจาระร่วง ตาแดง ไข้เลือดออก ไข้ฉี่หนู ฯลฯ หากประชาชนมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือกรณีฉุกเฉินสามารถโทรติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เบอร์ 1669

ระวัง!! น้ำท่วมปลิงเกาะ ต้องแกะอย่างถูกวิธี

ระวัง!! น้ำท่วมปลิงเกาะ ต้องแกะอย่างถูกวิธี


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

ในสถานการณ์น้ำท่วมเช่นนี้ ก็สามารถทำให้เราเจ็บป่วยด้วยโรค ภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำกัดเท้า อุจจาระร่วง ไข้ฉี่หนู ตาแดง ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ฯลฯ และภัยร้ายที่มากับน้ำอีกอย่างหนึ่งที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ นั่นก็คือ สัตว์ร้ายและสัตว์มีพิษทั้งหลาย เช่น จระเข้ งู และที่ดูจะเยอะหน่อยเห็นจะหนีไม่พ้น "ปลิง" นี่แหละ

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปลิง คืออะไร และมีลักษณะอย่างไร ? ...ปลิง เป็นสัตว์ที่อยู่ในน้ำโดยเฉพาะน้ำนิ่ง ๆ ทั้งหนองน้ำ ลำธาร รวมถึงบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง และจะเกาะตามร่างกายคนเพื่อดูดเลือด สำหรับในประเทศไทยมักพบปลิง 2 ชนิด คือ ปลิงเข็ม ตัวยาวขนาดใกล้เคียงกับก้านไม้ขีดไฟ อีกชนิดเป็น ปลิงควาย ตัวยาว 3 นิ้ว ลำตัวกว้าง 1 นิ้ว

ดังนั้น ในสภาวะน้ำท่วมขังนานเป็นสัปดาห์ (หรือบางทีนานเป็นแรมเดือน) ซึ่งก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเช่นนี้ สิ่งที่พวกเราทุกคนพึงปฏิบัติก็คือ สังเกตตามเนื้อตัวของตนเองอย่างละเอียดว่ามีสิ่งแปลกปลอมเกาะติดอยู่หรือไม่ เพราะหากถูกปลิงเกาะ ตัวของปลิงนั้นเบาจะไม่ทำให้รู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมเกาะติดอยู่ อีกทั้ง การดูดเลือดของปลิงก็เป็นไปอย่างแผ่วเบาเช่นกัน

นอกจากนี้ระหว่างที่ปลิงเริ่มกัดและดูดเลือดนั้น มันจะปล่อยสารที่มีฤทธิ์คล้ายยาชาออกมา ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ทั้งยังมีสารช่วยขยายหลอดเลือดและสารต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อให้ดูดเลือดได้ต่อเนื่อง หากปลิงยังดูดเลือดไม่อิ่มก็ยังจะเกาะอยู่อย่างนั้น โดยมันจะหลุดออกมาเองเมื่ออิ่ม แต่หากถูกรุมเกาะหลายตัวและถูกดูดเลือดมาก ก็จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดได้ ดังนั้น วันนี้เราก็มีวิธีป้องกันตนเองไม่ให้ถูกปลิงเกาะ รวมถึงวิธีแกะปลิงออกอย่างถูกวิธีมาแนะนำค่ะ

วิธีป้องกัน

หากมีความจำเป็นต้องลงไปในน้ำที่ท่วมขังและนิ่ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกปลิงเกาะและดูดเลือดนั้น ควรจะสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดรัดกุมและมัดปลายขากางเกง จากนั้นก็ชโลมน้ำมันก๊าดลงบนเสื้อผ้าส่วนที่ต้องโดนน้ำจะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษได้


ปลิงควาย


วิธีแกะปลิง

แต่หากว่าเพื่อน ๆ ไม่ได้เตรียมการป้องกันล่วงหน้า หรือป้องกันตัวเองอย่างมิดชิดแล้วแต่ยังถูกปลิงเกาะได้ วิธีการแกะปลิงออกจากร่างกายอย่างถูกวิธีสามารถทำได้ ดังนี้

- ไม่ควรใช้มือหรืออุปกรณ์อื่นดึงหรือกระชากตัวปลิงออกจากผิวหนังโดยตรง เนื่องจากจะทำให้เกิดแผลฉีกขาด เลือดหยุดยาก

- ใช้น้ำมะนาว น้ำมะกรูด น้ำเกลือเข้มข้น หรือน้ำแช่ยาฉุนหรือยาเส้นไส้บุหรี่ อย่างใดอย่างหนึ่งราดใส่ตรงที่ปลิงเกาะ นอกจากนี้ยังอาจเลือกใช้บุหรี่ที่ติดไฟหรือธูปติดไฟ จี้ลงไปที่ตัวปลิง ก็ทำให้ปลิงหลุดออกเอง

- เมื่อปลิงหลุดออก ให้หยดยาฆ่าเชื้อที่คอตตอนบัดและเช็ดเป็นวงรูปก้นหอย เริ่มจากส่วนในของแผลวนออกรอบนอกแผล เช็ดวนรอบเดียวเพื่อไม่ให้แผลสกปรก แล้วเปลี่ยนคอตตอนบัดอันใหม่ สัก 2-3 อัน

เอาล่ะค่ะ ตอนนี้ได้รู้วิธีป้องกัน รวมถึงข้อควรปฏิบัติหากถูกปลิงเกาะกันไปแล้ว ก็อย่าลืมนำไปปฏิบัติตาม และแนะนำคนรอบข้าง เพื่อให้ทุกคนรอดพ้นจากสัตว์ร้ายในช่วงหน้าน้ำแบบนี้กันด้วยนะจ๊ะ...

น้ำท่วมกรุงเทพ

น้ำท่วมกรุงเทพ

อัพเดต เตือน น้ำท่วมกรุงเทพ

ข่าวน้ำท่วม : วันที่ 30 ตุลาคม 54

15.21 น. จราจรถ. รามอินทราวิกฤติ รถติดหนักยาวหลายกิโลเมตร จากเหตุน้ำเอ่อท่วมขังเต็มบริเวณ

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 14.20 น. การจราจรบน ถ.รามอินทราตั้งแต่ กิโลเมตรที่ 1- 5 ติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากมีรถจำนวนมากหลีกเลี่ยงน้ำท่วมออกจากกทม. นอกจากนี้บริเวณดังกล่าว มีน้ำได้เอ่อล้นขึ้นเต็มบริเวณ ซึ่งบางจุดท่วมขึ้นมาถึง 2 ช่องการจราจร ส่วนตามซอยต่างๆ ได้มีน้ำท่วมขัง ตลอดฝั่งขาออก อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ กทม.ได้ดูแลเก็บกวาดเศษขยะไม่ให้อุดตันและเตรียมตั้งแนวกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย

15.04 น. ชาวตลิ่งชันอ่วม! น้ำทะลักสูงถึงอก อพยพแล้วหลายหลัง

ชาวบ้านบริเวณ ซ.สวนผัก เขตตลิ่งชัน หลายหลังคาเรือน เตรียมตัวอพยพแล้ว หลังจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงระดับหน้าอกผู้ชายแล้ว และยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง

12.12 น. น้ำเข้าท่วมถ.แจ้งวัฒนะแล้ว ขณะที่ถ.วิภาฯ -รังสิต การจราจรได้ถึงแยกหลักสี่

จากปัญหาประชาชนรื้อคันกั้นน้ำบริเวณวัดนาวง ดอนเมือง ส่งผลให้ในช่วงเช้าวันนี้ (30 ต.ค.) น้ำได้ทะลักเข้ามาในคลองประปา ล้นออกสู่ถนนแจ้งวัฒนะ ทำให้มีน้ำท่วมตั้งแต่บริเวณสี่แยกสะพานข้ามคลองประปาต่อเนื่องถึงด้านหน้าโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โดยน้ำไหลที่เข้าท่วมขังสูงประมาณ 40 ซม. ขณะที่ซอยแจ้งวัฒนะ 14 บริเวณหน้าปากซอยกลับมามีน้ำท่วมขังสูง 40 ซม.เช่นกัน ส่วนถ.วิภาวดี-รังสิตฝั่งขาออกใช้เส้นทางได้ถึงแยกหลักสี่เท่านั้น เพราะน้ำที่ท่วมช่วงวัดหลักสี่สูงกว่า 80ซม.แล้ว

10.37 น. พนังกั้นน้ำคลองเตยพัง น้ำทะลักเข้าท่วม
ผู้อำนวยการเขตคลองเตย เปิดเผยว่า พนังกั้นน้ำบริเวณหมู่บ้านเปรมฤทัย แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ได้พังลงแล้ว ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่พยายามนำทรายลงอุด แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากน้ำแรงมาก

10.31 น. สามเสน : คันกั้นน้ำ ซ.สามเสน๒๑ แตกอีก ห่างจากจุดเดิม๑๐๐ม. น้ำสูง๑.๒ม. ยังเพิ่มต่อเนื่องไหลเข้าท่วมพท.ใกล้เคียง ถ.สามเสนใช้ไม่ได้ ทหาร ทบ.กำลังแก้ไข (@armypr_news )

09.27 น. น้ำทะลักท่วม ม.เกษตรฯ ฝั่งถ.พหลโยธิน ด้านลาดพร้าวยังปกติ

มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ที่บริเวณสี่แยกภาสยาด้านหลังมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประชาชื่น เริ่มพบเห็นน้ำผุดขึ้นจากท่อระบายน้ำ จนไหลเข้าท่วมพื้นที่บริเวณชินเขต 2 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ ทำให้สภาพภายในซอยมีน้ำท่วมขัง และยังคงเพิ่มระดับความสูงขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกันฝั่งถนนพหลโยธินนั้น น้ำเริ่มท่วมขังบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ด้านถนนรามอินทรา พบว่าระดับน้ำที่ท่วมขังมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 40 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านใน เช่น เขตลาดพร้าว ที่มีการแจ้งเตือนว่าจะถูกน้ำท่วมนั้น ขณะนี้สถานการณ์ยังปกติ คลองลาดพร้าวมีน้ำลด 2ซม.

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สทศ.สั่งเลื่อนสอบ GAT/PAT เป็น 21 ม.ค.55

พิษน้ำท่วมส่งผล สทศ.สั่งเลื่อนสอบ GAT/PAT อีกรอบ ออกไป 1 เดือน ส่วนเข้าแพทย์ก็เลื่อนสอบเช่นกัน ไปเป็นวันที่ 21 ม.ค.ปีหน้า ชี้เพื่อให้เด็กมีเวลาอานหนังสือสอบ ส่วนเด็กๆ ที่อยู่ศูนย์พักพิงจะหาเครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตให้เด็กได้เข้าถึงข่าวสาร...

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ อาคารพญาไท ชั้น 35 นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และ พญ.บุญมี สถาปัตยวงศ์ ประธานอนุกรรมการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ร่วมกันแถลงข่าวการเลื่อนวันสอบ เนื่องจากหลายจังหวัดประสบภาวะอุทกภัย

นายประสาท กล่าวว่า กรณีน้ำท่วมในหลายจังหวัดที่สถานการณ์ยังยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการเตรียมตัวเพื่อสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ และการสอบแบบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT และแบบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT โดยการสอบดังกล่าวมีนักเรียนสมัครสอบจำนวนมาก ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเลื่อนวันสอบ ดังนี้ การสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1 เลื่อนสอบจากวันที่ 19-20 พ.ย. และ 26-27 พ.ย. เป็นวันที่ 24-27 ธ.ค.นี้

ประธาน ทปอ. กล่าวต่อว่า ด้านการสอบของ กสพท. เลื่อนจากวันที่ 25 ธ.ค.นี้ เป็นวันที่ 21 ม.ค.2555 ทั้งมีมติขยายวันรับสมัครสอบ การสอบรายวิชาสามัญ 7 วิชา เพื่อใช้ในระบบรับตรงที่จัดสอบโดย สทศ. ซึ่งขยายจากวันที่ 30 ต.ค.นี้ เป็นวันที่ 14 พ.ย.นี้ ชำระเงินถึงวันที่ 15 พ.ย.นี้ และเลื่อนวันรับสมัคร GAT/PAT ครั้งที่ 2 เดิมรับสมัคร 1-28 ธ.ค.นี้เลื่อนเป็นสมัครวันที่ 9 ม.ค.2555-2 ก.พ.2555 ส่วนวันสอบคือวันที่ 3-6 มี.ค.2555 ตามเดิม

“การเลื่อนวันสอบออกไปอีก 1 เดือนนั้น ทปอ.พิจารณาว่า เหตุการณ์น้ำท่วมคงจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งนักเรียนจะได้มีเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบ ส่วนนักเรียนที่ประสบภัยที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทปอ.จะประสานมหาวิทยาลัยนั้นๆ ให้จัดหาคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตเพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารการสอบและการรับสมัครต่างๆ” นายประสาท กล่าว.